ต่อนะครับ...
ถ้าหากว่า RCL เปลี่ยนเป็นเอเยนต์อื่นเลยตามที่มีหลายบริษัทเข้ามาเสนอตัวกับ RCL เรื่องก็จะไม่บานปลายต่อไปอีก
SSC เป็นบริษัทเดินเรือที่จัดว่าใหญ่บริษัทหนึ่งทีเดียวรับเป็นเอเยนต์ให้กับสายการเดินเรือทั่วโลก ลำพังแผนกเอเยนต์เรือ FEEDER ก็มีพนักงานเกือบร้อยคนเข้าไปแล้ว พนักงานเหล่านี้มีความไม่ค่อยพอใจผู้บริหารใหม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกิดเรื่องกับ RCL พนักงานเหล่านี้เกิดมีความคิดว่าน่าจะไปตั้งบริษัทใหม่แล้วรับเป็นเอเยนต์ให้ RCL เหมือนเดิม
นั่นก็คือที่มาของบริษัท เกรท รีเจ้นท์ ซึ่งพนักงานทั้งแผนก FEEDER ของ SSC พากันยกยวงออกมาทั้งแผนก โดยกล่าวกันว่าพนักงานลงขันกันเอง โดยมีกระแสข่าวที่ไม่ยืนยันว่า RCL ลงขันหรืออยู่เบื้องหลังด้วยหรือไม่
เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าของชาวออสซี่เป็นอันมากที่ต้องเสียทั้งธุรกิจและคนของตน ซึ่งทำให้เขาแทบจะต้องเลิกธุรกิจในด้านนี้ไปเลย ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างทันควันก็คือการขายหุ้นทั้งหมดของ SSC ใน RCL โดยที่ผู้บริหารของ RCL ไม่รู้เรื่องเลยจนกระทั่งทะเบียนผู้ถือหุ้นที่เปิดเผยออกมาที่ตลาดหุ้นนั้นเปลี่ยนไปเสียแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม 2532
ณ ร้านอาหารบริเวณลานจอดรถชั้นล่างของอาคารปัญจภูมิ วันนั้นเป็นวันเสาร์ สุเมธและสต๊าฟของเขาเริ่มคุยกันทีเล่นทีจริงในระหว่างอาหารมื้อกลางวันว่า "เขาขายหุ้นทิ้ง ด้วยเจนตาอันใด หรือเขาจะเลิกทำธุรกิจ เขาอาจจะขายให้คนอื่น เอ้ เราซื้อบริษัทเขาขึ้นมาเลยจะดีไหม จะไหวเหรอ ลองดูสักตั้ง" คือส่วนหนึ่งของบทสนนาเมื่อปลายเดือนมีนาคมซึ่งทุกคนก็ยังรู้สึกว่ามันคงจะเป็นฝันที่เป็นจริงไปได้ยาก
หลังจากนั้นแผนการซื้อกลุ่มบริษัทของ ssc ก็เริ่มขึ้นด้วยความร่วมมือทางด้านการเงินจากธนสยามซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใน RCL ถึง 13.2 เปอร์เซ็นต์และเป็นผู้ที่เคยทำ UNDERWRITE ให้กับ RCL เมื่อคราวเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2531 ธนสยามโดยสุขุมสิงคาลวนิช ให้ความสนับสนุนเต็มที่โดยส่งศิริพงษ์ สมบัติศิริ ผู้จัดการฝ่ายการลงทุนของธนสยาม ร่วมกับคุณากร เมฆใจดี ผู้ช่วยของสุเมธเข้าเจรจาต่อรองในขั้นต้นกับเจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์ชิปปิ้ง ก่อนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสุเมธในท้ายที่สุดซึ่งกว่าจะเจรจาตกลงกันได้ใช้เวลาถึงเกือบ 5 เดือน
คุณากร เมฆใจดี ได้สรุปถึงสาเหตุของความล่าช้าว่าสืบเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ
หนึ่ง-เนื่องจากธุรกิจนี้มันยังดำเนินอยู่ การประเมินมูลค่าของทรัพย์สินตลอดจนการพิจารณามูลค่าทางธุรกิจ ก็ต้องอาศัยพีชมาร์วิคที่สิงคโปร์เป็นคนเข้าไปตรวจสอบตัวเลขประเมิน ตัวเลข NET TANGIBLE ASSET และเป็นผู้เสนอแนะว่า RCL ควรจะเข้าไปซื้อในรูปแบบใดจึงจะเหมาะที่สุด
การประเมินราคาตลาดนั้นต้องใช้ถึง 3 บริษัท กล่าวคือ SGS SINGAPORE ผู้ประเมินราคาของผู้ขาย INTECO MARITIME SERVICES ผู้ประเมินราคาฝ่ายผู้ซื้อ ในที่สุดต้องให้ RITCHIE BISEI (FAREAST) บริษัทที่ได้รับการเห็นด้วยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
สอง-ด้านกฎหมายนั้นก็ต้องทำอย่างรัดกุม RCL จึงต้องจ้างบริษัท JUDE BANNY เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ซื้อแล้วก็ต้องกันไว้ทุกทางเช่นมีข้อหนึ่งระบุไว้เลยว่าธุรกิจที่ ssc ขายให้ RCL แล้ว ssc จะไม่ทำขึ้นมาแข่งอีกต่อไป
สาม-ปัญหาเรื่องสถานที่อยู่ไกลเนื่องจากเจ้าของจริง ๆ อยู่ถึงออสเตรเลียซึ่งเขาให้ผู้จัดการชาวสิงคโปร์มาคุยกับเราคนที่มาต่อรองด้วยนั้นไม่มีอำนาจอยู่ในมือเป็นแค่คนมารับข่าวสาร เรื่องมันก็เลยล่าช้า
ในที่สุด RCL ได้เข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท RCL INVESTMENT ขึ้นเป็น HOLDING COMPANY โดยที่ RCL ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ใน RCL INVESTMENT และ RCL INVESTMENT เป็นผู้เข้าไปซื้อกลุ่มกิจการของ RCL 5 บริษัทซึ่ง ssc เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สนนราคาที่ RCL ต้องจ่ายทั้งหมดเพื่อการซื้อสิ่งที่ RCL เรียกว่า GROUP OF COMPANIES ในครั้งนี้คือ 19 ล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย แต่สำหรับกลุ่มออสซี่ก็ได้กำไรไปไม่น้อยทีเดียวและเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้อีกด้วย สำหรับ RCL นั้นสิ่งที่ RCL จะได้เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายก็นับได้ว่าผู้บริหารของ RCL นั้นมีสายตายาวไกลไม่น้อยทีเดียว
แหล่งเงินทุนนั้นก้ไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอย่าง RCL จึงไม่ต้องแปลกใจที่ RCL ประกาศเพิ่มทุนอีก 14 ล้านบาท ซึ่งหลังจากขายหุ้นทั้งหมดแล้วก็จะได้เงินทั้งสิ้นประมาณ 364 ล้านบาท และในระหว่างที่ยังเรียกชำระได้ไม่หมดแต่บริษัทจะต้องชำระเงินแก่ ssc ธนสยามและไทยพาริชย์ก็เป็นแหล่งเงินกู้ระยะสั้นให้ไปก่อน เป็นอันตัดปัญหาเรื่องการเงินไปได้
กลุ่มบริษัทดังกล่าวนั้นทำกิจการเดินเรือเกือบจะครบวงจร กล่าวคือเป็นเจ้าของเรือ 4 ลำ คือ นันทภูมิ, ปิยภูมิ, กิตติภูมิและวีระภูมิ และมีเรือเช่าอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเอเยนต์ให้กับบริษัทเดินเรือทั่วโลก ตลอดจนสิทธิประโยชน์อีกมากมายในฐานะบริษัทของสิงคโปร์
กล่าวโดยสรุปแล้วสิ่งที่ RCL จะได้รับทันทีก็คือ
หนึ่ง-เส้นทางการเดินเรือซึ่งขยายครอบคลุมประเทศในเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดรวมทั้งอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย จากเดิมซึ่งมีเพียงสองเส้นทางเท่านั้น เป็นการขยายเส้นทางโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์และไม่ต้องสุ่มเสี่ยงเพราะฐานธุรกิจเดิมนั้นมีอยู่แล้ว
สอง-การได้ซึ่งความเชี่ยวชาญของการจัดการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทั้งในด้านเทคนิค การบริหาร การตลาด ตลอดจนการควบคุมเทคโนโลยีชั้นสูง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับงานด้านเอกสาร ด้านตารางเดินเรือ ด้านการจัดวางสินค้า และด้านข้อมูลสำหรับการบริหาร เป็นต้น
สาม-บริษัทได้รับสิทธิพิเศษในการใช้ท่าเรือจากการท่าเรือสิงคโปร์และท่าเรือกรุงเทพฯโดยได้รับสิทธิพิเศษ ในการเทียบท่าโดยไม่ต้องรอ และมีส่วนลดทางค่าใช้จ่ายด้วย และการที่บริษัทเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ได้รับสิทธิการเทียบท่าซึ่งทำให้บริษัทดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งอื่น ๆ
นอกจากนั้นแล้วกำไรจากการดำเนินงานของ GROUP OF COMPANIES จากเรือที่ชักธงสิงคโปร์ได้รับการยกเว้นภาษี และเงินปันผลของผู้ถือหุ้นก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน
จังหวะและโอกาสงาม ๆ อย่างนี้สำหรับบริษัทเรือไทยระดับกลาง ๆ อย่าง RCL หรือบริษัทอื่นก็ตามคงไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
และลำพังความคิดที่จะ GO INTERNATIONAL ด้วยฐานของตัวเองสำหรับบริษัทเรือไทยนั้นเป็นไปด้วยความยากยิ่งเพราะการส่งเสริมด้านพาณิชย์นาวีของรัฐบาลน้อยเต็มทีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ในปัจจุบันเรามีเรือเดินทะเลที่ทำการขนส่งของไทยอยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของเรือทั้งหมด และการพัฒนากองเรือของเราเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอยางมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปิ้นส์ล้วนแล้วแต่พัฒนารุดหน้าไปกว่าบ้านเรามากนัก มิพักต้องพูดถึงสิงคโปร์ที่นำหน้าเราไปไกลลิบโลกแล้ว
ในความเป็นจริงแล้วสิงคโปร์ยังคงความเป็นศูนย์กลางการเดินเรือของประเทศในแถบนี้ การที่ RCL สามารถบุกเข้าไปตั้งฐานที่มั่นได้นับเป็นการทำลายข้อจำกัดภายนอกที่ขัดขวางการ GO INTERNATIONAL ของ RCL ไปได้ระดับหนึ่ง ปัญหาคือสภาพภายในของ RCL พร้อมหรือไม่สำหรับขบวนทัพใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว
ห้าทศวรรษแรกของกลุ่มโงวฮกในปัจจุบันมีเพียงบริษัทเดียวคือโงวฮกจำกัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นเอเยนต์และเช่าเรือมาเพื่อทำการขนส่งสินค้า
ความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ จัง ๆ นั้นอาจกล่าวได้ว่าล้วนอยู่ในช่วงที่สุเมธเข้าบริหารคือ ช่วงประมาณ 10 ปีนี่เอง
สงขลาโงวฮกและสงขลาคอนเทนเนอร์ก่อตั้งขึ้นในปี 2520 และ 2524 เพื่อทำการขนถ่ายสินค้าในภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีท่าเรือ จำต้องขนถ่ายกันกลางแม่น้ำซึ่งนับว่าโงวฮกเป็บริษัทแรกที่ลงไปบุกเบิกธุรกิจด้านนี้ในภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ตั้งบากอกเทอร์มินัล เซอร์วิส ขึ้นมาบริการขนถ่ายสินค้าที่ต้องการมาทางรถไฟสู่กรุงเทพฯ หรือส่งไปถึงมาเลเซียเลยก้ได้
ปี 2523 ก่อตั้งบริษัท RCL และเพื่อขยายบานการลงทุนให้ได้รวดเร็วขึ้น ผู้บริหารยุคสุเมธก็ตัดสินใจนำบริษัท RCL เข้าตลาดฯในปี 2531
ปี 2524 โงวฮกได้ตัดสินใจสร้างตึกขนาดใหญ่ 12 และ 15 ชั้นคู่กันบริเวณสาธรใต้ แต่เป็นตึกที่ไม่มีป้ายชื่อติดเหมือนอาคารพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป หลายคนยังเข้าใจว่าเป็นตึกของ CITIBANK ซึ่งติดป้ายตัวโตไว้ด้านหน้า ทั้ง ๆ ที่ธนาคารเพียงแต่เช่าที่บางส่วนของโงวฮกเท่านั้น นั่นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นอีกประการว่าโงวฮกนั้นเป็นกลุ่มที่ LOW PROFILE เพียงใด
ปัจจุบันบริษัทที่บริหารตึกทั้งสองนี่ก็คือบริษัทปัญจภูมิ ในยุคที่ราคาดินเป็นทองในปัจจุบัน ตึก 2 หลังบนเนื้อที่ 1,009 ตารางวา ปัจจุบันราคาประมาณ 2.5 แสนบาทต่อตารางวา ทรัพย์สินของบริษัทที่เป็นที่ดินก็ปาเข้าไป 200 กว่าล้านบาทแล้ว
ปี 2528 โงวฮกเอเยนซี ถือกำเนิดขึ้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแทนโงวฮกเอเยนซี่กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานมากที่สุดในเครือคือประมาณ 140 คน
และเพื่อทำธุรกิจด้านการขนส่งทางเรือให้ครบวงจร และสนองนโยบายการแก้ปัญหาการแออัดอย่างหนักในท่าเรือคลองเตยโงวฮกจึงได้ตั้งอีก 2 บริษัทในปี 2532 กล่าวคือบริษัท ไทยพอสพอริตี้เทอมินัลและบริษัทสินธนโชติ
ไทยพอสพอริตี้ เทอมินัล โงวฮกร่วมทุนกับค้าสากลซิเมนต์ไทย ซึ่งเป้นบริษัทในเครือของปูนซิเมนต์ ร่วมทุนกัน 50:50 ท่านี้เรียกกันว่าท่าปูนฯ (ท่าเรือหมายเลข 10) อยู่ทีพระประแดง นั่นหมายความว่าสินค้าสามารถผ่านท่าปูนฯ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปผ่านท่าเรือคลองเตย นั่นหมายความว่าสินค้าสามารถผ่านท่าปูนฯโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปผ่านท่าเรือคลองเตย
สินธนโชติ เป็นบริษัทลูกของโงวฮกซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532 เป็นสถานีตรวจและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้สร้างอยู่บนเนื้อที่กว่า 38 ไร่ อาคารคลังสินค้ามีพื้นที่บรรจุสินค้าได้กว่า 15,000 ตารางเมตรสามารถบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอรืเพื่อการส่งออกได้ปีละ 102,700 ทีอียูหรือ 1.3 ล้านตัน
CONTAINER FREIGHT STATION หรือที่เรียกกันสั้น ๆว่า CFS เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่มากสำหรับบ้านเรา สินธนโชติเปิดบริการเป็นบริษัทที่สี่
ความที่เป็นธุรกิจใหม่และสุเมธต้อการให้สินธนโชติดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานสากล จึงได้ว่าจ้างบริษัท P&O AUSTRALIA ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจด้านนี้ เป็นบริษัทที่มีกิจการเดินเรือ บริหารท่าเรือ และมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ทั่วโลก ให้เข้ามาจัดวางระบบเป็นเวลา 2 ปี
TREVOR HAGEN BRYANS ซึ่งเป็น MANAGING DIRECTOR INTERNATIONAL PORT MANAGEMENT SERVICES ของ P & O ซึ่งได้มาร่วมพิธีเปิดสินธนโชติด้วยนั้นกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
" P & O นั้น ตั้งมากกว่า 150 ปี เป็นผู้บุกเบิกด้าน CONTAINER ตั้งแต่มีการเริ่มระบบนี้ในยุโรป แม้โงวฮกจะตั้งมากกว่า 60 ปี แต่ก็ไม่เคยทำธุรกิจด้านนี้มาก่อนสุเมธตดต่อเราเพราะต้องการ INTERNATIONAL PRACTICE ดูแล้วมันอาจจะง่ายแค่ขนสินค้าเข้าตู้ แต่จริง ๆ แล้วมันซับซ้อนไม่น้อย ลูกค้าแต่ละรายสินค้าต่างกัน มีรายละเอียดมากมายในแง่ที่ตั้งของสินค้าจะมาถึงเมื่อไหร่ จะส่งมอบเมื่อไหร่ จะจัดพื้นที่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าที่เราตั้งไว้ ซึ่งการใช้ระบบ MANUAL มันล้าสมัยมาก เรานำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมการขนถ่ายสินค้าและการเคลื่อนย้ายตู้รวมทั้งระบบการจัดเอกสารเพื่อให้ทันตามกำหนดนัดหมายของเรือที่จะมารับสินค้า"
สุเมธกล่าวถึงแผนการที่จะจ้างกลุ่ม P&O ให้เข้ามาบริหารท่าปูนฯ ซึ่งขณะนี้ตกลงในหลักการเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นทางการเท่านั้น เพื่อสิ่งที่เรียกว่า "INTERNATIONAL PRACTICE"
ในขณะเดียวกัน RCL ก็ต้องเตรียมการที่จะเข้าไปบริหาร GROUP OF COMPANIES ในสิงคโปร์ ทั้งยังต้องจัดระบบการสื่อสารข้อมูลระหว่าง RCL ที่สิงคโปร์กับ RCL หรือโงวฮกที่กรุงเทพฯ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วมากสำรหับกลุ่มโงวฮกคำถามคือ ผู้บริหารเตรียมจัดระบบภายในและบุคลากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
โงวฮกนั้นมีข้อเด่นที่สุดตรงที่มีบุคลากรที่มี "ความชำนาญ" (SKILL) สูง แต่จุดอ่อนก็คือความล้าหลังของระบบการบริหารที่ยังเป็นแบบเก่า พนักงานส่วนใหญ่รวมทั้งผู้บริหารเป็นคนสูงอายุที่อยู่มานาน เพราะที่นี่ไม่มีกำหนดเกษียณอายุเรียกว่าจ้างกันจนตายไปคาโต๊ะทำงานเลยบริหารงานแบบช่วย ๆ กัน ยังไม่มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนไม่มี ORGANIZATION CHART ว่ากันว่าเวลาประชุมกรรมการของโงวฮกเอเยนซีนั้นระเบียบวาระการประชุมยังไม่มีเลย
แผนกบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเป็นสำหรับทุกองค์กรไม่เคยมีในกลุ่มโงวฮกผู้บริหารเพิ่งจะตั้งแผนกบุคคลขึ้นมาในโงวฮกเอเยนซีเมื่อประมาณ 4 เดือนก่อนโดยจ้าง ดร.กิตติ อริยพงศ์ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของบริษัท 3 M เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่าย ซึ่ง ดร.กิตติก็ต้องมาจัดทำประวัติพนักงาน ทำ JOB DISCRIPTION เตรียมงานด้านฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งพยายามผลักดันเอาระบบการจัดการสมัยใหม่เข้ามา
สุเมธผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บริหารของ RCL ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างทันสมัยและผู้บริหารของกลุ่มโงวฮกด้วยได้กล่าวถึงความจำเป็นของบริษัทที่ถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้วว่า
"เราพยายามที่จะปรับตัวเองจาก FAMILY BUSINESS ให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกให้มากกว่าเก่า ทุกอย่างมันกำลังเหมาะเศรษฐกิจโตเร็วมาก บริษัทเราก็โตเร็วมากเช่นกัน ถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบจะลำบาก แต่จะเปลี่ยนได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงกดดันจากภายนอกภายในมันจะไปสมดุลกันที่จุดไหน ก็คงเปลี่ยนแปลงแค่นั้นภายในนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความพร้อม ความสามารถ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมี IRRITATION (ความหงุดหงิด) เป็นของธรรมดา เพราะการเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดช่องว่าง และต้องมีบางคนไม่พอใจเป็นของธรรมดา แต่ก็ต้องพยายามให้มันราบรื่นที่สุด"
23-24 กันยายน กลุ่มโงวฮกจัดสัมมนาบริษัทขึ้นเป็นครั้งแรกที่ระยอง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ดร.กิตติพูดถึงการสัมมนาครั้งนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า
"เราบอกถึงปรัชญาของการเป็น PROFESSIONAL ว่าเขาเป็นกันอย่างไร การทำงานเป็นทีมสำคัญอย่างไร ต้องอาศัยปัจจัยอะไร เราพูดถึงกฎระเบียบข้อบังคับและการใช้เอกสารในการสื่อสารแทนการใช้วาจาเตรียมปรับค่าครองชีพ รวมทั้งพูดถึงการประเมินผลงานอย่างเป็นระบบ (APPRAISAL) มิใช่ปรับเงินเดือนตามความรู้สึกอีกต่อไปก็เป็นการให้เข้ารับรู้ทิศทางใหม่ของบริษัทที่จะเป็นระบบสากลยิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นซึ่งจะเป็นจริงได้ในภาคปฏิบัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้งผู้บริหารและพนักงาน ว่าจะเข้าใจถึงสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด อนาคตของบริษัทที่เริ่มจะ GO INTERNATIONAL นั้นจะไปได้ไกลเพียงใดคำตอบก็อยู่ที่ตรงนี้ด้วย
ที่มา นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2532
