●● ท่องเที่ยววันหยุด วาไรตี้แสนสนุก! เรื่องราวฮอตฮิต! สิ่งที่คุณเห็น...จะทำให้คุณต้องตะลึง คลิ๊ก! ●●

หาเพื่อน หาแฟน หาคู่

เล่นเกมส์

ดูดวง

สูตรวิเศษ สาระน่ารู้ เรื่องสุขภาพ

งาน - อาชีพเสริมทำเงินล้าน

ผู้เขียน หัวข้อ: ถ้า ลูก(หรือหลาน) โดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?  (อ่าน 2163 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
ถ้า ลูก(หรือหลาน) โดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:01:00 PM »
ถ้าลูก (หรือหลาน)โดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี? บทความเยอะมาก ผมขอสรุปข้อมูลย่อๆให้นะดังนี้ครับ

ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กจะซึมซับเรื่องราวต่างๆที่เราได้สอนไป เช่นถ้าเราสอนให้เด็กใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ในอนาคต เด็กก็มีแนวโน้ม ที่จะใช้ความรุนแรง ในการแก้ปัญหา...

ถ้าเราคิดให้เด็กเองทุกอย่าง โตขึ้น เด็กก็จะคิดอะไรเองไม่เป็น ในอนาคต เด็กก็จะต้อง คอยพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลา...

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ...
1. สอบถามลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

2. สอนลูกถึงวิธีการตอบสนองที่ถูกต้อง   
2.1. บอกเพื่อนว่า “อย่าทำแบบนี้ เราไม่ชอบ” เวลาบอกให้บอกด้วยเสียงอันชัดถ้อยชัดคำ หนักแน่น อย่าทำหงอๆ พูดแผ่วๆ เพราะเพื่อนจะยิ่งได้ใจและทำอีก (ถ้าเค้าเกิดอยากแกล้งขึ้นมา) แต่อย่าหนีไปเฉยๆ เพราะเค้าอาจจะยิ่งตามแกล้ง

2.2. ถ้าบอกแล้วเพื่อนไม่ฟัง ให้บอกเพื่อนว่าถ้ายังไม่ฟัง เราจะบอกครู

2.3. ถ้าเค้าเลิกทำ ก็แปลว่าเค้าอาจไม่ตั้งใจ และยอมเลิกแล้วต่อกัน ถือว่าเราให้โอกาสแล้ว แต่ถ้าเค้ายังทำซ้ำๆ ให้ไปบอกครูว่าเกิดอะไรขึ้นเสมอ

ประเด็นคือ ถ้าเกิดกรณีพิพาทกับเพื่อน ห้ามใช้ระบบศาลเตี้ยตัดสิน ห้ามทำเพื่อน ห้ามใช้กำลังกับเพื่อน ห้ามเรียกคนอื่นมารุม ให้คนจัดการเป็นผู้ใหญ่ (เช่น ครูหรือครูพี่เลี้ยงเท่านั้น) หน้าที่เราคือ บอกความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงจะเป็นการรับมือกับการโดนทำร้ายร่างกายแบบแมนๆ!

การฝึกสอนให้เด็กมีสติ คิดไตร่ตรอง  หาสาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ไขปัญหาเอง โดยเราคอยให้คำแนะนำเมื่อเขาต้องการ เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเมื่อโตขึ้น เขาจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ!

MateThai.com
-----------------------------------------------------------------------------------
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:25:20 AM โดย Admin »

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:05:59 PM »
บทความค่อนข้างยาว แต่ก็มีประโยชน์มาก เลยไม่กล้าตัดข้อความ เอามาลงแบบเต็มๆเลย จะมีประโยชน์มากกว่าครับ...

 :wanwan017:

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?

เมื่อลูกโดนเพื่อนแกล้ง...เรื่องเล่าจากคุณแม่ เมื่อวาน หมอได้มีโอกาสเจอ คุณพ่อคุณแม่ที่น่ารักคู่หนึ่ง...

ทั้ง 2 ท่าน พาลูกชายวัยอนุบาลมาปรึกษา เรื่องต้องการ ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ให้มากขึ้น ระหว่างที่เราพูดคุยกันนั้น หมอสังเกตว่าทั้ง 2 ท่าน มีลักษณะที่ใจเย็น นุ่มนวล

และอ่อนโยนมาก โดยเฉพาะคุณแม่...

เราได้พูดคุยกันหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ประทับใจหมอที่สุด คือเมื่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่า ลูกชายตัวน้อยวัยอนุบาล เคยโดนเพื่อนแกล้ง ซึ่งเพื่อนที่แกล้งนั้น ถือเป็นหัวโจกในระดับชั้นที

เดียว เพื่อนคนนี้ เคยมีคดีกับเด็กคนอื่นมาหลากหลาย และคงจะมีต่อกับอีกหลายคน

วันนั้น ลูกชายคอตกกลับบ้านมาเล่าให้คุณแม่ฟังว่า... โดนเพื่อนแกล้ง โกรธเพื่อนคนนั้น เขาควรทำอย่างไรดี???

หมอประทับใจกับวิธีที่คุณแม่ท่านนี้ช่วยลูกมาก.. คุณแม่เมื่อรับฟังปัญหาลูกแล้ว ก็ได้ปลอบใจ ให้กำลังใจ จากนั้นจึงสอน...

แต่สิ่งที่คุณแม่สอน...ไม่ใช่สิ่งสุดโต่ง อย่างที่ผู้ใหญ่หลายคน อาจเผลอทำกัน คือ ไม่ได้สอนให้"สู้"ด้วยความ"โกรธ"  ขณะเดียวกัน ก้ไม่ได้สอนให้ "ยอม"เพราะความ"กลัว"

แต่คุณแม่ท่านนั้นสอนให้ลูกเข้าใจเพื่อน เห็นอกเห็นใจเพื่อน ให้อภัย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น...

การให้อภัย...ไม่ได้แปลว่า ต้องยอมให้ถูกกระทำซ้ำๆไป
การให้อภัย...แปลว่า ไม่ผูกโกรธ แต่คนละเรื่องกับการจัดการปัญหา
การให้อภัย...จะสามารถทำให้เราแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ด้วยใจที่สงบเย็น ซึ่งความสงบเย็น จะช่วยให้เราเห็นทางออกของปัญหาได้แจ่มชัดขึ้น

เมื่อหายโกรธ...ให้อภัยเพื่อนได้แล้ว...ก็ถึงคราวที่จะต้องแก้ปัญหา

ด้วยความที่ คุณแม่ต้องการให้ ลูกหัดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง... เพราะรู้ว่า นี่คือทักษะ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเมื่อโตขึ้น...

คุณแม่จึงไม่ได้ "คิดแทน" ลูก ว่าควรแก้ปัญหา โดนเพื่อนแกล้งนี้ อย่างไร???

แต่ทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยง "ชวนลูกคิด" ว่าทางออก ทีเป็นไปได้มีอะไรบ้าง และ แต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดย idea ส่วนมากมาจากลูกเอง

นอกจากนี้ คุณแม่ยังได้ไปพบครูประจำชั้น อย่างลับๆ..ไม่ใช่เพื่อไป บอกให้คุณครูช่วยดูแลลูกให้มากกว่านี้หน่อย

แต่เพื่อไปบอกคุณครูว่า คุณแม่ทราบเรื่องแล้ว แต่คุณครูไม่จำเป็นต้องปกป้องเขามากนัก เพราะคุณแม่อยากให้เขา ฝึกทักษะชีวิตและมีภูมิคุ้มกัน สำหรับเรื่องที่ใหญ่กว่าที่เขาต้อง

เจอในอนาคต

ทึ่งไหมละค่ะ...

ไม่กี่วันถัดมา...หนุ่มน้อยของเรา กลับมาเล่าให้คุณแม่ฟังด้วยรอยยิ้มว่า

ตอนนี้เพื่อนที่เคยแกล้งเขาคนนั้น ดีกับเขาแล้ว มาหอมแก้มเขาแล้ว และรักเขามาก แต่ยังแกล้งเด็กคนอื่นอยู่

คุณแม่จึงถามว่า แล้วหนูทำอย่างไร..

หนุ่มน้อยบอกว่า...ก้ผมให้เขาลอกการบ้าน(อนุบาล) โชคดีนะเนี่ย ที่ผมไม่ได้ไปฟ้องครู ไม่งั้นเค้าคงเกลี่ยดผมแน่เลย...

ปัญหาจึงจบด้วยประการฉะนี้

การที่หมอเล่าเรื่องนี้ ไม่ได้ต้องการ ให้สนใจวิธีที่หนุ่มน้อยใช้แก้ปัญหา ว่าเห็นวิธีที่"ถูก"หรือ"ผิด" "ดี"หรือ"ไม่ดี"

เพราะหมอเชื่อว่า คงเป็นการยากมากที่เราจะหาหลักเกณฑ์มา ตัดสินได้ ต่างคนก้มีคุณค่าที่ยึดไว้แตกต่างกัน

แต่อยากแบ่งปันเรื่องราว วิธีช่วยเหลือลูกของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ปลูกฝังความเมตตาไว้ในใจลูก และเปิดโอกาส..ให้ลูกได้ลองคิด หัดตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ....

แล้วหลายครั้งคุณจะพบว่า ...เด็กๆก้ทำอะไรหลายอย่างได้ดีไม่แพ้เราเหมือนกันคะ
DR.meihua
ที่มา https://www.facebook.com/thaichildpsy/posts/307018812762086

-----------------------------------------------------------------------------------

ลูกสาวป.2 ค่ะ โดนเพื่อนแกล้งเอาดินสอแหลมๆทิ่มนิ้ว กลับมาลูกเล่าให้ฟัง เราก็รับฟังค่ะ

แล้วถามเค้ากลับว่า เค้าจะทำยังไง? พยายามให้เค้าหาสาเหตุว่าเพื่อนโกรธเค้าเรื่องอะไร ทำไมเพื่อนถึงแกล้ง เค้าโกรธเพื่อนรึเปล่า เค้าให้อภัยเพื่อนได้มั้ย?? ให้เค้าแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ แต่ก็ให้คำแนะนำไปบ้าง (เรื่องการให้อภัย เรื่องการคบเพื่อน) 2 วันต่อมาลูกมาบอกว่าดีกันแล้ว

เพื่อนมาขอโทษแล้วเค้าก็ให้อภัยเพื่อน เพราะเพื่อนก็มีข้อดีอย่างอื่นที่ลูกเราชอบ อย่าคิดว่าเด็กไม่เข้าใจในสิ่งที่เราแนะนำนะคะ รับฟังปัญหาแต่ไม่เข้าไปยุ่งค่ะ เพราะบางทีปัญหาแบบเด็กๆ เด็กเค้าคุยกันเองง่ายกว่าค่ะ

คอยรับฟังและแนะนำเค้าแค่นั้น จะสอนลูกเสมอว่า "เค้าอยากมีเพื่อนแบบไหน เค้าก็ควรจะเป็นแบบนั้นให้กับเพื่อนด้วย" ได้ผลที่ดีกะลูกตัวเองค่ะ
Cr. Ratchanok Nok-ka
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2014, 10:55:40 AM โดย Admin »

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:08:33 PM »
มีบางท่านถามมาว่าคุณแม่ท่านนั้น"สอน" หรือ "พูดกับลูก" อย่างไร ...

จริงๆแล้วอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักใหญ่ในเรื่องนี้ แต่เป็นสิ่งที่คุณแม่เลือกทำต่างหากค่ะที่น่าสนใจ

การสอนลูกให้แก้ปัญหาอย่างมีเมตตา ไม่ได้สู้กลับเพื่อสนองความโกรธ หรือยอมเรื่อยไปเพราะความกลัว เป็นสิ่งที่หมอชื่นชม...

แต่เพื่อเป็นการไขข้อข้องใจ หมอขอเฉลยว่า...

คุณแม่ไม่ได้พูดอะไรพิเศษแตกต่างไปจากที่คนธรรมดาทั่วไปพูดกันหรอกคะ ฟังจากที่เล่า ....คุณแม่ก็พูดตรงๆ ธรรมดาๆ ไม่มีเทคนิคพิสดารอะไร

อาจใช้การตั้งคำถามเพื่อลองให้ลูกฝึกการนึกถึงจิตใจผู้อื่นบ้าง เช่น ถ้าลูกทำกลับเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร เพื่อนจะเจ็บไหม เป็นต้น......

แต่สิ่งสำคัญคือ ท่าทีที่ประกอบด้วยเมตตา ที่เธอใข้เวลาสอนลูกต่างหากละคะ ที่น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ความใจเย็นที่เธอมีจนลูกสัมผัสได้...หมอได้เห็นเองเวลาเธออยู่กับลูก สอนลูกตอนอยู่ในคลินิกค่ะ......อ้อ..เธอบอกมาคำนึงค่ะ ว่าเธอพยายามอย่างมากเพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก คิดว่าสิ่งนี้น่าจะทำให้ลูกซึมซับไปค่ะ...

- Dr.meihua -
ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:10:54 PM โดย Admin »

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:13:18 PM »
หลานสาวโดนเพื่อนในห้องรุมโกรธเพราะหัวโจกสั่ง พยายามช่วยแก้ปัญหา จนหลานมาบอกไม่อยากไป รรแล้ว

ดิฉันเลยไปหาเด็กๆพวกนั้นและถามเขาตรงๆว่า หลานสาวทำอะไรผิดจึงต้องทำแบบนั้น ถ้าพวกหนูถูกเพื่อนทั้งห้องไม่พูดด้วยจะเสียใจมั้ย ถ้าหลานน้าไม่ได้แย่จริง ก็ขอให้จับมือกันและเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันนะ

มาทราบทีหลังว่าหัวโจกมาถามหลานว่าถึงขั้นฟ้องอาให้มา รร เองเลยหรอแต่อะไรๆก็ดีขึ้นค่ะ เฮ้อร้ายจริงเด็กสมัยนี้ค่ะ
Cr.Ray Natee

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:17:22 PM »
ปัญหาลูกถูกรังแกมีความสำคัญอย่างไร?
เมื่อลูกเข้าสู่สังคมโรงเรียน ได้พบกับเพื่อนๆ ที่มาจากครอบครัวที่มีสภาพและการอบรมเลี้ยงดูที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่พ่อแม่ไม่คาดคิด เช่น การถูกข่มขู่ หรือการถูกรังแก

ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกต่อต้านหรืออาจกลัวสังคมเพื่อนและโรงเรียนไปเลยก็ได้

ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ ปัญหาที่ตามมาจากการถูกรังแกก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เช่น การไม่อยากไปโรงเรียน การไม่ยอมรับสังคม การคิดต่อสู้เพื่อนที่มารังแก

นั่นหมายความว่าความรุนแรงจากการป้องกันตัวเองจากการถูกรังแกก็จะเพิ่มทวีคูณขึ้น การทะเลาะกันก็จะเพิ่มมากขึ้น และบางครั้ง สาเหตุของการถูกรังแก อาจไม่ได้เกิดจากเพื่อนเสมอไป

หากพ่อแม่ทราบข้อมูลจากลูกว่าถูกรังแก แล้วแสดงอาการโมโหโกรธ ออกมาให้ลูกได้รับทราบ นั้นผลเสียที่จะตามมา คือลูกอาจจะเอาเรื่องถูกรังแกจากโรงเรียนมาสร้างสถานการณ์ให้พ่อแม่เกิดความสนในตนเองเพิ่มมากขึ้น

ยิ่งถ้าพ่อแม่ไปจัดการเพื่อนคนนั้นที่โรงเรียน โดยไม่ถามถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว อาจจะเกิดปัญหาลุกลามระหว่างพ่อแม่กับครู หรือพ่อแม่ของเด็กที่รังแกลูกก็เป็นได้

แต่ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ไม่จัดการกับความรู้สึกของลูกเมื่อถูกรังแก มองว่าเป็นเรื่องของเด็กทะเลากัน เดี๋ยวก็ดีกัน ผลที่ตามมาคือ ลูกจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีที่พึ่งเมื่อถูกรังแก ไม่มีใครมารับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดทางกาย ทางใจของตนเอง และเมื่อถูกรังแกอีกก็จะต้องหาวิธีต่อสู้หรือไม่ก็ หลีกหนีจนกลายเป็นเด็กที่เข้ากับสังคมไม่ได้ ต่อต้านการคบเพื่อนซึ่งจะเกิดภาวะซึมเศร้า ไม่มีเพื่อน ไม่มีพัฒนาการทางด้านสังคมที่สมวัย อีกเช่นกัน

ดังนั้นการตั้งสติเมื่อรู้ว่าลูกถูกรังแกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรที่จะศึกษาสาเหตุ และคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอเพื่อการแก้ปัญหาที่ทันท่วงที
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:04:24 AM โดย Admin »

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 05:27:27 PM »
ปัญหาลูกถูกรังแกมีสาเหตุและวิธีการแก้ไขอย่างไร?
จากพัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัย 3-5 ขวบ มักจะเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ และจะแสดงอารมณ์อย่างเปิดเผยและมีอิสระเต็มที่ เด็กวัยนี้มักกลัวอย่างสุดขีด อิจฉาอย่างไม่มีเหตุผล โมโหร้าย

การที่เด็กมีอารมณ์เช่นนี้อาจจะเป็นเพราะเด็กมีประสบการณ์กว้างขึ้น อารมณ์จึงเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขทางสังคม ตั้งแต่สังคมภายในบ้านจนกระทั่งถึงสังคมภายนอกบ้าน เด็กเคยได้รับแต่ความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เมื่อต้องพบกับคนนอกบ้านซึ่งไม่สามารถเอาใจใส่เด็กได้เท่าคนในบ้าน หรือเหมือนเมื่อยังเล็ก เด็กจึงรู้สึกขัดใจ และพยายามปรับตัว เพื่อต้องการให้เป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับของบุคคลข้างเคียง

การแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือระบายความรู้สึกของตนเอง จึงอาจเกิดขึ้นได้โดยแสดงออกกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นการง่ายที่สุด เพราะอยู่ในวัยเดียวกันและใกล้ชิดกัน เมื่อการแสดงออกรุนแรงมากขึ้นกลายเป็นการรังแกกันขึ้นมา และหากการรังแกกันที่ไม่มีบุคคลอื่นเช่น ครู หรือพ่อแม่มาช่วยแก้ไขปัญหา

ฝ่ายถูกรังแกก็จะมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น และเด็กที่รังแกผู้อื่นก็จะได้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในการกระทำของตนเองแบบผิดๆ และเกิดความฮึกเหิมรังแกบุคคลที่อ่อนแอกว่าต่อไป

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาสาเหตุให้ชัดเจน เพื่อการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และสอนให้ลูกเผชิญปัญหาด้วยตนเองเมื่อเกิดปัญหาการถูกรังแกขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดีให้ลูกเพื่อการเตรียมเผชิญกับปัญหาในอนาคตต่อไป

ซึ่งสรุปสาเหตุของปัญหาได้ดังนี้

    1. เด็กชอบรังแกเพื่อนเพราะความสนุกสนานและขาดทักษะในเรื่องความเห็นอกเห็นใจ ขาดทักษะในการรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น

    2. เด็กชอบรังแกเพื่อนเพราะว่าเด็กนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง จึงซัมซับเอาพฤติกรรมรุนแรงมาเป็นนิสัยที่เคยชินเมื่อกระทำต่อผู้อื่นแล้วก็ไม่สามารถรับทราบได้ว่าเพื่อนๆ จะรู้สึกอย่างไรบ้าง

    3. เด็กที่ไม่ได้รับการแก้ปัญหาเมื่อถูกรังแก ไม่ได้รับการปกป้องจากการถูกรังแก จึงต้องป้องกันตนเองด้วยการรังแกผู้อื่นก่อน

    4. เด็กรังแกเพื่อนเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ หรือบุคคลที่ต้องการให้มาใส่ใจตนเองเป็นพิเศษ

    5. เด็กบางคนเมื่อรังแกผู้อื่นแล้วรู้สึกมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น รู้สึกตนเองเข้มแข็ง มีพลังมีอำนาจ ต้องการเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนๆ

    6. เด็กบางคนช่างฟ้องแม้ถูกรังแกนิดหน่อย เพื่อยืมมือคุณครูเพื่อลงโทษเพื่อนคนอื่นๆ

    7. เด็กขาดทักษะในการจัดการปัญหาเมื่อถูกรังแก และแก้ปัญหาโดยการร้องเสียงดังแม้ถูกแหย่เพียงเล็กน้อย หรือบางครั้งเพื่อนมาหยอกล้อตามปกติ

    8. เด็กที่โรงเรียนซึ่งดูแลไม่ทั่วถึงมักซึมซับการจัดการปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนำคนที่รังแกมาตี และเอาใจเด็กคนที่ร้องงอแงโดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง ทำให้เด็กมีพฤติกรรม “สร้างสถานการณ์” คือ สร้างให้ตัวถูกรังแกเพื่อให้เกิดวิธีจัดการปัญหาดังกล่าว

    9. เด็กบางคนไม่ได้ตั้งใจแกล้งแต่เป็นเพราะรำคาญ เช่น รำคาญเสียงงอแงของเพื่อนหรือการปะทะที่เกิดจากความไม่ต้องใจ เช่น เดินเบียด หรือเดินเฉี่ยวกันเพียงเล็กน้อย

    10. เด็กเกิดการอิจฉากันจึงสนองความรู้สึกทางอารมณ์ เพื่อทดแทนความรู้สึกของตนเองโดยการทำร้าย รังแกผู้อื่น

    11. เด็กถูกวางเงื่อนไขในการแสดงพฤติกรรมทางบวกมากเกินไป ทำให้เด็กเก็บกดและแสดงความเกเรในทางอื่น แนวทางปฏิบัติสำหรับพ่อแม่ เมื่อต้องประสบกับปัญหาลูกถูกรังแก

    12. พ่อแม่ควรแจ้งกับทางโรงเรียนว่าลูกถูกรังแก และขอความช่วยเหลือจากครูและทางโรงเรียนให้ช่วยกันยุติการรังแกกัน ไม่ควรลังเลใจที่จะแจ้งให้ครูทราบ เพราะกลัวว่า เมื่อแจ้งทางโรงเรียนแล้วสถานการณ์จะแย่ลงกว่าเดิม หรืออายที่ลูกถูกรังแก กลัวจะถูกมองว่าปกป้องลูกของตนเองมากเกินไป หรือเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของลูกที่ต้องแก้ปัญหาหยุดการถูกรังแกด้วยตนเอง เพราะเด็กต้องการความช่วยเหลือเมื่อถูกรังแก

    14. พ่อแม่ควรศึกษานโยบายและความรับผิดชอบของโรงเรียน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา เพราะเด็กทุกคนควรได้รับการปฏิบัติด้วยความสุภาพ และการเคารพในศักดิ์ศรีจากเพื่อนนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน ครูมีหน้าที่รับประกันให้เกิดบรรยากาศการเรียนที่ปลอดภัย ในบางประเทศมีกฎหมายเพื่อบังคับให้โรงเรียนมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการรังแกในโรงเรียนแล้ว

    15. พ่อแม่ควรร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา ถ้าลูกบอกว่าเขากำลังถูกรังแก หรือสงสัยว่าลูกอาจถูกรังแกที่โรงเรียน พ่อแม่ควรจะบันทึกเหตุการณ์ที่ลูกได้เล่าให้ฟัง จดชื่อเด็กที่เกี่ยวข้อง วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเพื่อให้มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถนำมาอ้างอิงได้เมื่อจำเป็น ขอพบครูประจำชั้นของลูกทันทีและอธิบายความห่วงใยหรือไม่สบายใจด้วยท่าทางเป็นมิตร หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษหรือตำหนิกัน ถามครูว่าได้สังเกตเห็นเหตุการณ์อะไรบ้าง ครูได้ทราบถึงหรือสงสัยว่ามีการรังแกกันเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ลูกกับนักเรียนคนอื่นในห้องได้หรือไม่ ครูได้สังเกตเห็นว่าลูกถูกเพิกเฉยจากเพื่อนๆ หรือถูกปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยวบ้างหรือไม่ เช่น ไม่ได้ไปเล่นในสนามโรงเรียน หรือร่วมกิจกรรมที่นักเรียนคนอื่นๆ ทำด้วยกัน ถามครูว่ามีความตั้งใจที่จะสืบสวนหรือช่วยยุติการรังแกหรือไม่อย่างไร นัดพบคุณครูเพื่อติดตามความคืบหน้า หากไม่มีอะไรดีขึ้นหลังจากที่ได้รายงานการรังแกให้ครูทราบ ให้ขอพบครูอีกครั้ง จดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทุกครั้งเมื่อพูดคุยกับครูและบุคลากรของโรงเรียน

    16. สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก พยายามกระตุ้นให้ลูกได้ใช้เวลาเล่นกับเพื่อนที่หลากหลาย และสร้างความมั่นใจให้ตัวลูก เพื่อลูกจะได้เผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ฝึกแก้ปัญหา และรับรู้อารมณ์เพื่อนๆ ที่ต่างกัน หรืออาจลูกพาไปร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้านบ้าง เพื่อได้หาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อลูกเผชิญปัญหา

ป้องกันปัญหาลูกถูกรังแกได้อย่างไร?
พ่อแม่ควรศึกษาแนวทางในการป้องกันและจัดการกับปัญหา การโดนรังแกของลูก ดังนี้

    พูดคุยกับลูกถึงเรื่องที่โรงเรียน บางครั้งลูกอาจกลัว อายหรือเสียหน้าเมื่อถูกเด็กรังแก จึงไม่กล้าบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนอื่นรู้ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรคุยกับเขาก่อนที่เรื่องจะบานปลายไปมากกว่านี้ โดยแสดงให้เขาเห็นว่า พ่อแม่เป็นที่พึ่งพาได้และพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เขาเผชิญได้

    ฝึกความมั่นใจในตัวเอง ฝึกให้ลูกกล้าพูด หรือลองแก้ปัญหาเบื้องต้นเองหากเป็นความขัดแย้งเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อลูกถูกรังแก ควรให้เขากล้าที่จะเปิดเผยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และเข้าไปช่วยเหลือ

    หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง การรังแกมักจะเกิดขึ้นในที่ที่ลับตาผู้คน หรือไม่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เช่น ห้องน้ำ ใต้อาคารเรียน หลังอาหารเรียน เป็นต้น ดังนั้นจึงควรสอนให้ลูกหลีกเลี่ยงสถานที่เหล่านี้ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ

    ทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก เด็กๆ มักจะให้ความสำคัญกับเพื่อนและเปิดเผยกับเพื่อนมากกว่า ดังนั้นการรู้จักเพื่อน ๆ ของลูก จะเป็นผลดีในการเข้าใจปัญหาของลูกเมื่อเขาถูกรังแก

    เชื่อใจลูก การเชื่อใจลูกอย่างมีเหตุผลถือเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรมีให้กับลูก เพราะการเชื่อใจลูกจะเป็นวิธีที่ทำให้ลูกเปิดใจ กล้าระบายปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟังมากยิ่งขึ้น

    ให้เด็กกล้าตัดสินใจเมื่อถูกรังแก เด็กที่ถูกรังแก ก็มักจะโดนรังแกอยู่เป็นประจำ ดังนั้นการฝึกให้เด็กกล้าตัดสินใจ เมื่อถูกรังแกจะทำให้เขาได้เรียนรู้เองว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เขาเลิกโดนรังแก

    สอนลูกให้รู้จักระวังตัวเอง เด็กส่วนใหญ่ไม่อาจแก้ปัญหาการโดนรังแกได้ด้วยตัวเอง และมักจะต้องการความช่วยเหลืออยู่เสมอ ดังนั้น จึงควรสอนลูกให้ได้รู้จักระวังตัวเอง เช่น หากลูกต้องไปไหนมาไหนคนเดียว ก็ควรสอนให้เขารู้จักวิธีป้องกันการโดนรังแก ด้วยการหาเพื่อนสักคนให้ไปด้วยกัน

    อย่าสัญญากับลูก การแก้ปัญหาการถูกรังแก ควรได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนด้วย จึงไม่ควรสัญญาที่ว่ารักษาความลับเกี่ยวเรื่องที่ลูกโดนรังแก ให้ลูกได้กล้าเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีพ่อแม่คอยเป็นที่ปรึกษาอยู่เคียงข้าง

    สอนให้เชื่อมั่นในตัวเอง การที่เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง จะทำให้เขากล้าแสดงออก กล้าทำในสิ่งต่าง ๆ ความเชื่อมั่นในตัวเองนี้ก็จะผลักดันให้เขากล้าที่จะบอกกล่าว หรือขอความช่วยเหลือจากการถูกรังแกด้วยตัวของเขาเอง

    ฝึกให้มีความใจเย็น เด็กที่มีนิสัยเกเรมักจะแกล้ง รังแกเด็กที่แสดงอาการกลัว หรืออ่อนแออยู่เป็นประจำ ดังนั้น จึงควรสอนให้ลูกพยายามที่จะซ่อนความรู้สึกกลัวหรืออ่อนแอ ไม่ให้เด็กเกเรเห็นหรือรับรู้ เพื่อป้องกันการโดนรังแก

    สอนให้กล้ามีปากมีเสียง วิธีนี้ไม่ใช่ให้เป็นการฝึกเด็กมีนิสัยที่ก้าวร้าว แต่เป็นการสอนให้เด็กรู้จักปกป้องตัวเอง กล้าที่จะห้ามหรือพูดกับเด็กที่มารังแกเขา

    ให้ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น บอกลูกให้เดินไปขอคำปรึกษาในยามที่เกิดปัญหา หรือต้องการคำปรึกษาทั้งกับเพื่อนๆ หรือครู

    ส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง มีการสำรวจพบว่า การสอนลูกให้รู้จักป้องกันตนเองด้วยความมั่นใจ เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ลูกโดนรังแก การมีความมั่นใจในตัวเองผสมผสานกับการเรียนศิลปะป้องกันตัว สนใจในงานอดิเรก เล่นกีฬา ฯลฯ เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ดีเยี่ยม ที่ทำให้ลูกสามารถจัดการกับปัญหาการโดนรังแกของตัวเองได้

เกร็ดความรู้เพื่อครู
เมื่อทราบเรื่องการรังแกกัน ครูควรหาข้อเท็จจริงทันที และแจ้งให้ผู้ปกครองทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด และชี้แจงว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ไม่ควรเรียกที่รังแกและเด็กผู้ถูกรังแกมาพบพร้อมๆ กัน เนื่องจากอาจทำให้ผู้ถูกรังแกอับอายหรือกลัว

ครูไม่ควรไกล่เกลี่ยให้เด็กประนีประนอมกัน เพราะการรังแกกันคือ การที่ฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ใช่การมีความขัดแย้งต่อกัน จึงไม่ควรไกล่เกลี่ยให้ยอมความกัน ครูเรียกเด็กที่สงสัยว่าเป็นรังแกให้มาพบ แล้วชี้แจงให้ทราบว่าการรังแกกันผิดต่อระเบียบของโรงเรียน และทางโรงเรียนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น พร้อมกับรายงานให้ผู้ปกครองทราบ

ปัญหาลูกถูกรังแกมีความสำคัญอย่างไร?
Cr. http://taamkru.com/th/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%81/

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 07:18:31 AM »
ลูกโดนเพื่อนแกล้ง
ลูกโดนเพื่อนแกล้ง มันคือ conflict management ฉบับอนุบาลใช่มั้ย???

“อยากให้พี่จิบแนะนำทีค่ะ จะสอนลูกให้ป้องกันตัวจากการโดนเพื่อนรังแก แบบที่ไม่ใช่การเอาคืน อ่ะค่ะ...

คือสอนลูกว่าเวลาเพื่อนรังแก โดนตีให้เอามือกันไว้ อย่าไปตีคืน ให้ไปบอกครู บอกผู้ใหญ่นะ วันนึงเห็นเพื่อนเอาข้อศอกพยายามมาศอกเค้า เค้าก็ดันออก เพื่อนก็เปลี่ยนวิธี เป็นบีบขา เค้าก็ปัดมือเพื่อนออก เลยไม่รู้ว่าเราสอนลูกผิดรึเปล่าคะ บางคนบอก ทำให้ลูกไม่สู้คน แต่ลูกก็ใช้วิธีที่เราสอนนะคะ และก็ไม่เคยกลับมาฟ้องว่าเพื่อนแกล้ง หรือมีเรื่องกับเพื่อน”

--------------------------------------------------------------------------------------

คำถามนี้มาจากน้องที่แม่จิบรู้จักอีกที
พี่ขอตอบทางนี้ เพื่อให้มีประโยชน์ต่อแม่ๆคนอื่นด้วย และเพื่อให้ได้ความเห็นจากแม่ๆที่มีประสบการณ์คล้ายๆกัน

ส่วนตัว แม่จิบไม่นิยมนโยบาย “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในทุกรูปแบบ (ยกเว้นใครทำลูกชั้นเจ็บ แกตาย.. เอ๊ย ไม่ใช่ อิอิ) แต่เนื่องจากมีแต่ลูกชาย ประเด็นเรื่องการโดนเพื่อนแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นแกล้งแบบทำร้ายร่างกาย หรือโดน bully ไม่ให้เข้ากลุ่ม หรืออะไรก็ตาม

บอกเลยว่า เราซีเรียสและห่วงมาก เพราะสังคมเด็กชายมันต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันที่อาจจะรุนแรง กว่าเด็กหญิงที่แค่สะบัดบ็อบใส่กัน ชิ! พูดง่ายๆ แม่จิบไม่อยากเห็นลูก ต้องเข้าสู่ วังวนของการชกต่อยกันในทุกรูปแบบ แต่จะมีวิธีไหน ที่จะเตรียมพร้อมลูกชายเราให้เติบโตไปแบบเอาตัวรอดได้โดยไม่โดนเพื่อนหาว่าป๊อด นั่นแหละสำคัญ.. ดังนั้น จึงเข้าใจแม่ๆที่มีลูกชายทุกคนที่กลุ้มใจกับเรื่องนี้ และเชื่อว่าแม่ทุกคนคงจะมีวิธีสอนลูกที่ดีในแบบของตัวเอง

*** สำหรับตัวพี่ ตั้งแต่ลูกเข้าโรงเรียน (เริ่มมีสังคมนอกบ้านที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น) พี่จะสอนลูกว่า ***

“ห้ามทำร้ายเพื่อน”
ไม่ว่าจะเป็นการทำคนอื่นก่อน หรือโดนเพื่อนทำร้ายก่อนก็ตาม ห้ามโต้ตอบด้วยการทำกลับ – เหตุผลที่พี่ให้กับลูกก็คือ ต่อให้แม่รู้ว่าลูกจะไม่มีวันรังแกคนอื่นก่อน แต่ถ้าเราโดนทำแล้วเราทำกลับ เกิดครูมาเห็นตอนเราเป็นคนไปตีเค้า ครูจะรู้มั้ยว่าเราป้องกันตัว? ครูอาจจะคิดว่าเราเป็นคนไปรังแกคนอื่นก็ได้ ดังนั้น วิธีป้องกันตัวที่ฉลาดกว่าการทำกลับ ก็คือ

1. บอกเพื่อนว่า “อย่าทำแบบนี้ เราไม่ชอบ” เวลาบอกให้บอกด้วยเสียงอันชัดถ้อยชัดคำ หนักแน่น อย่าทำหงอๆ พูดแผ่วๆ เพราะเพื่อนจะยิ่งได้ใจและทำอีก (ถ้าเค้าเกิดอยากแกล้งขึ้นมา) แต่อย่าหนีไปเฉยๆ เพราะเค้าอาจจะยิ่งตามแกล้ง และเราไม่เคยบอกว่าเราไม่ชอบ เค้าจะรู้มั้ยว่าเราไม่อยากให้ทำ ดังนั้น เค้าใช้กำลังกับเรา อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราอย่าใช้กำลังตอบโต้ แต่ให้ “พูดกันดีๆแบบคนโตๆว่า อย่าทำ เราไม่ชอบ!”

2. ถ้าบอกแล้วเพื่อนไม่ฟัง ให้บอกเพื่อนว่าถ้ายังไม่ฟัง เราจะบอกครู

3. ถ้าเค้าเลิกทำ ก็แปลว่าเค้าอาจไม่ตั้งใจ และยอมเลิกแล้วต่อกัน ถือว่าเราให้โอกาสแล้ว แต่ถ้าเค้ายังทำซ้ำๆ ให้ไปบอกครูว่าเกิดอะไรขึ้นเสมอ
ประเด็นคือ ถ้าเกิดกรณีพิพาทกับเพื่อน ห้ามใช้ระบบศาลเตี้ยตัดสิน ห้ามทำเพื่อน ห้ามใช้กำลังกับเพื่อน ห้ามเรียกคนอื่นมารุม ให้คนจัดการเป็นผู้ใหญ่ (เช่น ครูหรือครูพี่เลี้ยงเท่านั้น) หน้าที่เราคือ บอกความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงจะเป็นการรับมือกับการโดนทำร้ายร่างกายแบบแมนๆ ที่แม่จะปลื้มที่สุด! (ลูกชอบทำสิ่งที่ดีที่สุดในสายตาแม่ และชอบให้แม่ปลื้ม อิอิ)

ส่วนกรณีที่โดนเพื่อน bully หรือ โดนเพื่อนแกล้งแหย่ให้รำคาญ

อันนี้ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีบุคลิคแตกต่างกัน ลูกพี่สองคนโตก็ยังมีบุคลิคไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนโต ฮีผ่านช่วงเวลาของการ “เข้าแกงค์, แย่งเพื่อนสนิท, รับเข้าแกงค์, แย่งกันเป็นหัวหน้าแกงค์ และการช่วงชิงพาวเวอร์ของเด็กอนุบาล” มาตั้งแต่ชั้น อ.3 ถามว่าฮีเครียดมั้ย บอกเลยฮีเครียดมาก เพราะลูกพี่เป็นเด็กค่อนข้างขี้อายและไม่กล้าเผอิญหน้ากับ conflict

ฮีใช้เวลาพยายามรับมืออยู่ 1 ปีเต็มๆ กว่าฮีจะซึมซับตรรกะที่แม่สอนว่า

“ลูกจำคำแม่ไว้.. เพื่อนไม่ใช่แฟน ถึงจะต้องมีคนเดียว และคบทีละคน เพื่อนมีได้ทีละหลายๆคน ถ้าเพื่อนคนนี้มีคนอื่นมาแย่งสนิทด้วย เราก็สนิทกันทั้งสามคน แต่ถ้าเราไม่ชอบคนนั้น เราก็ไปสนิทกับเพื่อนคนอื่นได้”

ลูกแม่ไม่ต้องเก็บความช้ำใจมากินใบบัวบกที่บ้าน 555 อันนี้ ลูกจำขึ้นใจ (และหวังว่าฮีจะเก็บไปใช้ตอนโตได้ด้วยเวลาคบผู้หญิง ^^”)

--------------------------------------------------------------------------------------

ส่วนลูกคนรอง ฮีไม่สนเรื่องโดน bully และไม่มีใครทำให้ฮีรู้สึกว่าโดน bully ได้ เพราะฮีเชื่อคำสอนของแม่ว่า
“เวลาคบเพื่อน ก็คบเพื่อนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข อยู่กับเพื่อนที่เล่นด้วยแล้วสนุก ไม่ใช่คบเพราะหน้าตา ไม่ใช่คบเพราะฐานะ อย่าจำใจต้องเล่นกับเพื่อนที่ใครๆก็อยากเล่นด้วย หรือเพราะเพื่อนสนิทเราชอบเค้า เราเลยต้องชอบด้วย มันไม่จำเป็น เพราะการคบเพื่อนเป็นสิทธิ์ของเรา เลือกเพื่อนก็เหมือนเลือกแฟน ความรักมันห้ามกันไม่ได้ เพื่อนที่ถูกใจก็เหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างอยากเล่นด้วยกันก็เล่น แต่ถ้าเราไม่อยากเล่นกับเรา เราก็เล่นกับคนอื่น หรือถ้าเราไม่อยากเล่นกับเค้า ก็ไปเล่นกับคนอื่น อย่าไปฝืนทน มันไม่สนุกด้วยกันทั้งสองฝ่าย” จบ!

ฮีสุดแสนจะสบายใจ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเข้ากลุ่มเข้าแกงค์ ฮีไม่เคยยึดติดกับเพื่อนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ฮีสามารถเล่นได้กับเพื่อนทุกคน ย้ายวงเล่นได้ และมีความสุขเสียด้วย เวลาใครไม่ให้เล่นด้วย ฮีก็ไม่คิดมาก เคยถามเหมือนกันว่าเคยเจอเรื่องแบบนี้ที่โรงเรียนหรือเปล่า ฮีตอบชิลๆว่า “เค๊ย” พอถามว่าแล้วฮีทำไง ฮีบอก “ก็ไม่เห็นต้องทำไง ก็เปลี่ยนไปเล่นกับคนอื่นที่มันสนุก” โอเคนะ.. 555 ลูกดิชั้นเป็นตัวของตัวเองดี แม่ชอบ

คำที่เราสอนลูก ลูกบางคนใช้เวลานานกว่าจะซึมซับและเอามาปฏิบัติใช้เพื่อให้ตัวเองมีความสุข มีความสุขกับตัวเอง และมีความสุขกับการเข้าสังคม ส่วนเวลาที่เราเริ่มไม่แน่ใจว่า.. เราสอนลูกถูกไหม เราทำให้ลูกติ๋มไปหรือเปล่า ไม่สู้คนหรือเปล่า

เราน่าจะลองถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเป็นตัวเรา เราจะจัดการกับสถานการณ์นั้นแบบไหน? เราอยากให้ลูกเราโตไปแบบแมนๆ หรือตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือเลี่ยงการเผชิญหน้า แล้วถ้าเราเลี่ยงการเผชิญหน้า เราสอนให้ลูกหนีปัญหาหรือรับรู้ว่ามีปัญหาแต่แค่รับมือกับมันโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง?

แต่ที่แน่ๆ ปัญหาของเด็ก เราต้องสอนให้เด็กรับมือกับปัญหา จะได้เป็นพื้นฐานของการจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ในอนาคต ไม่ใช่โตไปคอยถามชาวบ้านว่ารู้มั้ย ชั้นลูกใคร? หรือแม้แต่เข้าไปแทรกกลางโดยการไปมีปัญหากับเพื่อนลูกซะเอง ลูกจะเป็นเด็กไม่รู้จักโตค่ะ หรือหนักไปกว่านั้น ไปมีปัญหากับพ่อแม่ของเด็กคนนั้นด้วย อ่อ ที่สำคัญอย่าสอนไปลูกเลยนะคะว่า “ใครทำ มาบอกแม่ เดี๋ยวแม่ไปจัดการฟาดกบาลมันเอง” เอ่อ.. แบบนั้น ตัวใครตัวมันค่ะ อิอิ

Credit FB พี่ยอ
ที่มาข้อความ เพจ แม่จิบ
 :wanwan017:

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 07:22:38 AM »
ฉลาดโต้ตอบ เมื่อลูกโดนเพื่อนแกล้ง
เมื่อลูกเข้าโรงเรียนก็อาจโดนกลั่นแกล้งกันบ้างล่ะ ซึ่งพ่อแม่ด้วยความที่รักลูก เมื่อเห็นลูกโดนรังแกก็มักจะสอนให้โต้ตอบกลับไปทุกที ส่วนลูกจะเอาไปทำตามหรือไม่นั้นก็คงต้องคอยตามรับชมตอนต่อไป

โต้ตอบได้แต่ต้องฉลาด
เราควรสอนให้ลูกค้นหาวิธีจัดการปัญหาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงไม่เล่นกับเพื่อนที่ชอบแกล้งหรือเล่นรุนแรงให้ได้มากที่สุด แนวนี้อาจไม่ค่อยถูกใจแม่ยกสักเท่าไหร่ หากอยากเห็นพระเอกนางเอกสู้คนบ้าง

- ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วทำยังไงดีล่ะ ไอ้ตัวแสบก็ยังสบหาโอกาสแกล้งอีก ทีนี้ ก็ควรสอนลูกยืดอกท้าชนเลยค่ะ แต่สู้ด้วยจิตวิทยา โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่เป็นการแสดงสีหน้า ท่าทางที่ดูเอาจริงเอาจัง ด้วยการหยุดแล้วยืนมองหน้า และใช้กำลังเสียงที่เปล่งจากกระบังลม อิ อิ ตะโกนออกไปว่า “เราไม่ชอบ อย่าทำอย่างนี้อีก” ก็อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่สามารถคุกคามได้ง่ายๆ อีก และการใช้เสียงดังๆ ก็จะทำให้คนรอบข้างหันมาสนใจ รวมทั้งคุณครูก็อาจเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยค่ะ

- สุดท้าย ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็คงต้องพึ่งศาลสูงในห้องเรียน นั่นก็คือ คุณครู มาจัดการปัญหาให้ ถือว่าเป็นการจัดการที่ต้นตอทำให้เกิดปัญหาจริงๆ ดีกว่าโต้ตอบกลับไปด้วยความรุนแรง แล้วเกิดเป็นเหตุทะเลาะกันขึ้นมา ทีนี้ล่ะ ความผิดก็เท่าๆ กัน โดนทำโทษก็โดนเท่าๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย แม้ว่า อีกฝ่ายจะหาเรื่องก่อนก็ตามค่ะ

ฝึกศิลปะป้องกันตัวดีมั้ย?
พ่อแม่บางคนเมื่อเห็นลูกโดนรังแกบ่อยๆ ทนไม่ได้ ก็เลยส่งลูกไปเรียนศิลปะป้องกันตัว ไว้เพื่อโต้ตอบเมื่อโดนเพื่อนรังแก ถามว่า ฝึกศิลปะป้องกันตัวดีมั้ย...ดีค่ะ แต่ควรฝึกไว้เพียงเพื่อสยบฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีละมุนละม่อมมากกว่าโต้ตอบกลับไปด้วยความรุนแรง ซึ่งถ้ายิ่งสอนให้ลูกใช้กำลังในการแก้ปัญหาด้วยแล้ว ก็กลับกลายเป็นว่า เด็กจะซึมซับเรื่องการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามากขึ้นทุกๆ ที ใครมีกำลังมากกว่าก็จะกลายเป็นหัวโจกของห้อง ซึ่งตรงจุดนี้ พ่อแม่หลายๆ คนคงไม่อยากให้ลูกโตเป็นคนแบบนี้แน่ๆ

เข้าใจเด็กหัวโจก
ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับความเป็นเด็กว่า เด็กบางคนไม่ทราบว่า ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนว่าควรทำอย่างไร หรืออยู่ที่บ้านแล้วเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ใช้ความรุนแรงจนเคยชิน จึงนำมาแสดงกับเพื่อนๆ ถ้าหากไม่อยากให้เด็กมีลักษณะนิสัยเช่นนี้ไปจนเติบโต ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และคุณครูที่จะต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด หากไม่ไหวจริงๆ ควรขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์โรงพยาบาลใกล้ๆ บ้านก็ได้ค่ะ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย

ที่มา Manager Online

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 10:36:11 AM »
รับมือ “ลูกถูกเพื่อนแกล้ง” ที่โรงเรียน
ลูกกลับจากโรงเรียนถูกเพื่อนแกล้ง...ชกตาบวมปูด...มีรอยหยิกตามตัว...รอยกัดที่หน้า...ของใช้ส่วนตัว ยางลบดินสอหายเป็นประจำ ฯลฯ

นับเป็นเรื่องที่พ่อแม่เกือบทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ดังกล่าวเมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน  เช่นเดียวกับสมัยที่พ่อแม่ยังเป็นเด็กย่อมเคยถูกเพื่อนแกล้งหรือแกล้งเพื่อนมาบ้างไม่มากก็น้อย

ปัญหาเด็กทะเลาะกัน แกล้งกันไปแกล้งกันมา แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในธรรมชาติของเด็กที่อาจมีความจำกัดในการสื่อสาร  การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่รู้วิธีการชวนเพื่อนเล่น ไม่สามารถประเมินการใช้กำลังการออกแรงของตนได้ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเด็กบางคนชอบแกล้งเพื่อนหรือชอบเล่นกับเพื่อนแรง ๆ

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องธรรมดาของเด็ก ๆ นั้นหากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยหรือจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างผิด ๆ แล้ว  จากปัญหาเด็กทะเลาะกัน แกล้งกัน ธรรมดาอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สะเทือนขวัญในสังคมก็เป็นได้  ดังตัวอย่างไม่นานมานี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานักศึกษาชาวเกาหลีใต้บุกเข้ากราดยิงเพื่อนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสียชีวิตจำนวนมาก สืบพบสาเหตุเบื้องหลังมาจากนักศึกษาชาวเกาหลีคนนี้ถูกเพื่อนแกล้งมาตั้งแต่เด็ก ๆ  โดยไม่มีใครช่วย จึงได้แต่เก็บกดกลายเป็นความคับแค้นใจและระเบิดออกมาเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ดังกล่าว   

จากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมรังแกกันในโรงเรียนของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหานี้เช่นกัน พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่นที่มีนักเรียนถึงร้อยละ 60 ถูกเพื่อนรังแก ผลระยะยาวที่เกิดขึ้น คือ หากเด็กที่ถูกรังแกบ่อย ๆ แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาย่อมเสี่ยงต่อการเติบโตมาด้วยภาวะซึมเศร้าในอนาคต  หรือถูกกดดันจนถึงกับฆ่าตัวตายซึ่งพบมากในประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ ฝ่ายเด็กที่ชอบไปรังแกคนอื่นหากไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปอบรมสั่งสอนหรือมีแต่ให้ท้ายแล้วเด็กในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตมาด้วยการเคยชินกับการใช้ความรุนแรงกับครอบครัว  คนรอบข้าง กลายเป็นอันธพาลไม่มีใครอยากคบหา เป็นที่รังเกียจของคนในสังคม

ปัญหาเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง กลั่นแกล้งกันในโรงเรียน จึงไม่เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยอีกต่อไปแต่เป็น “ราก” หรือมูลเหตุของปัญหาการใช้ความรุนแรงที่ถูกบ่มเพาะรอวันเกิดดอกออกผลในอนาคต  พ่อแม่จึงควรเรียนรู้หาวิธีการรับมือที่ถูกต้องกับปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้องเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม       

+++ ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง ??? +++
เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งหรือรังแก พ่อแม่ร้อยทั้งร้อยไม่สามารถอยู่เฉยหรือนิ่งนอนใจได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพ่อแม่ส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าหากเกิดปัญหาดังกล่าวแล้วเราควรช่วยลูกอย่างไร  โดยมากมักโต้ตอบด้วยอารมณ์รู้สึกเจ็บไปกับลูกด้วย จึงมักสอนให้ลูกตอบโต้แบบตาแทนตา ฟันแทนฟัน  ตัวอย่างเช่น สอนให้ลูกชกเพื่อนคนนั้นกลับหากถูกรังแก  หรือวันรุ่งขึ้นให้ไปแก้แค้นชกเพื่อนคนนั้นเลยอย่างไม่ทันให้เขาตั้งตัว เพื่อไม่ให้ใครกล้ามารังแกอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายที่พ่อแม่มักอ้างว่าต้องมีความเข้มแข็งห้ามอ่อนแอ ต้องสู้ ตอบโต้กลับไม่ให้ใครมารังแกเราได้

ไม่เพียงเท่านี้ พ่อแม่บางคนรักลูกมาก เมื่อเห็นลูกถูกเพื่อนแกล้งต่อหน้าต่อตาถึงกับอดรนทนไม่ได้ เข้าไปช่วยเหลือลูก และแก้แค้นแทนเด็ก ที่มาทำร้ายลูกของตน ดังตัวอย่างที่เห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์ไม่นานมานี้ ที่พ่อเห็นลูกถูกเพื่อนผู้หญิงชกเนื่องจากแย่งของเล่นกัน ผู้เป็นพ่อถึงกับปรี่เข้าไปกระโดดถีบและกระทืบเด็กหญิงคนที่มาชกลูกของตนอาการปางตายเนื่องจากเจ็บแค้นแทนลูก               

การตอบสนองอย่างสะใจในอารมณ์ด้วยการแก้แค้นให้สาแก่ใจเช่นนี้ไม่เพียงแต่พ่อคนดังกล่าวจะต้องไปรับโทษในคุกตามระเบียบแล้ว สิ่งที่พ่อได้หว่านและตกค้างลงไปในใจของลูกนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าเพราะนั่นคือพ่อกำลังสอนลูกว่าเมื่อเกิดปัญหา ความขัดแย้งขึ้น วิธีการแก้ไขคือ “การใช้ความรุนแรง” เท่านั้นอันเป็นการบ่มเพาะให้ลูกเป็นยุวอาชญากรตามมาในอนาคต

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรระมัดระวังและตั้งสติให้ดีในปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งหรือรังแกจากที่โรงเรียน อย่าเพิ่งให้อารมณ์โกรธนำหน้าไปก่อนหรือเอาแต่จะแก้แค้นแทนลูกอย่างเดียว แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำได้แก่
     
1. สอบถามลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ว่าเหตุการณ์เป็นไปอย่างไร ลูกกำลังทำอะไรอยู่  ใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน แล้วลูกตอบโต้อย่างไร  เพื่อนที่มารังแกพูดจาหรือตอบโต้กลับอย่างไร ฯลฯ  เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกมาฟ้องว่าถูกเพื่อนแกล้งนั้นอาจไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมดก็ได้ ลูกอาจเป็นคนเริ่มก่อน รังแกเพื่อนก่อนก็ได้  พ่อแม่จึงควรฟังหูไว้หู สอบถามเหตุการณ์อย่างรอบคอบเสียก่อนแล้วจึงค่อยชี้แนะลูกถึงวิธีการรับมือ 

โดยอาจไปสอบถามคุณครูหรือเพื่อน ๆ ของลูกที่เห็นเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรเพื่อสามารถช่วยเหลือแนะนำลูกได้อย่างตรงจุดจริง ๆ 

อย่างไรก็ตามพ่อแม่ต้องคอยสังเกตถึงความผิดปกติของลูกด้วย เช่น มีรอยฟกช้ำ เลือดออก ตามร่างกายหรือไม่  ของหายเป็นประจำหรือไม่  ลูกผอมลงและบ่นหิวเสมอ ทั้ง ๆ ที่ได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนอย่างเพียงพอ ฯลฯ  เพราะในบางกรณีเด็กบางคนเมื่อถูกเพื่อนแกล้งไม่กล้าบอกพ่อแม่เพราะอาจถูกเพื่อนขู่หรือกลัวว่าพ่อแม่จะหาว่าตนอ่อนแอยอมให้เพื่อนแกล้งแล้วมาทำโทษตนต่ออีกซ้ำสอง

2. สอนลูกถึงวิธีการตอบสนองที่ถูกต้อง   
ลูกมักเลียนแบบอย่างการตอบสนองของพ่อแม่ พ่อแม่ทำอย่างไรชี้แนะลูกอย่างไรลูกมักเชื่อฟังและยึดเอาคำสอนของพ่อแม่เป็นหลักในการตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ  พ่อแม่จึงควรตระหนักว่าสิ่งที่ท่านสอนนั้นมีผลต่อชีวิตของลูกในระยะยาวแน่นอน  ดังนั้นก่อนจะแนะนำสั่งสอนจึงควรตั้งสติ คิดไตร่ตรองให้ดีด้วยความระมัดระวัง 

ในขั้นแรกพ่อแม่ควรสอนให้ลูกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน  ไม่ควรช่วยเหลือหรือเสนอแนวทางทันทีแต่ฝึกให้ลูกรู้จักคิดเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน เพราะเราไม่ได้อยู่กับลูกและคอยช่วยเหลือลูกได้ตลอดเวลา หลังจากฟังแนวทางการแก้ปัญหาของลูกแล้วจึงค่อยชี้แจงถึงผลดีผลเสียของการตอบสนองแบบต่าง ๆ พร้อมเสนอแนะว่าการตอบสนองที่ชาญฉลาดโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงนั้นเป็นอย่างไร

พร้อมยกตัวอย่างในภาคปฏิบัติจริงให้ลูกได้นำไปใช้  เช่น  เดินหนี  ไม่สนใจ บอกตรง ๆ ว่าไม่ชอบ  หากทำอีกจะฟ้องครู  ฯลฯ  โดยติดตามผลลูกเป็นระยะว่าลูกสามารถจัดการปัญหาได้อย่างประสบผลสำเร็จหรือไม่

หากเพื่อนที่ชอบแกล้งยังคงตามรังควานไม่เลิกรา หรือครูที่โรงเรียนไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ พ่อแม่อาจต้องไปพบคุณครูของลูกที่โรงเรียนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  ไปทำความรู้จักกับเพื่อนของลูกคนนั้นพูดคุยสังเกตพฤติกรรม พร้อมร่วมมือกับครูในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ในกรณีที่พ่อแม่พบว่าลูกถูกแย่งของเล่นต่อหน้าต่อตา  พ่อแม่สามารถเข้าไปสอนในเรื่องสิทธิและการแบ่งปัน ว่าของนี้เพื่อนกำลังเล่นอยู่ ไปแย่งจากมือไม่ได้ให้ไปเล่นของเล่นชิ้นอื่นก่อน ให้คืนเพื่อนไป และเมื่อลูกเล่นเสร็จแล้วควรแบ่งปันให้เพื่อนเล่นบ้าง  รวมทั้งสอนทั้งคู่ไม่ให้แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

ร่วมด้วยช่วยกันกับโรงเรียน
ในเมื่อลูกใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่ที่บ้าน คุณครูจึงเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยเต็ม ๆ อย่างไม่สามารถปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงได้  อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจพบว่าครูส่วนใหญ่เคยเห็นพฤติกรรมรังแกเพื่อน แต่เมื่อถามว่าได้พยายามห้ามหรือหยุดการกระทำเช่นนั้นหรือไม่คุณครูที่ถูกสัมภาษณ์กว่าครึ่งตอบว่าช่วยเหลือ “ค่อนข้างน้อย” หรือ “แทบจะไม่เคยทำอะไร” เพื่อหยุดการรังแก

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ปกครองในการผลักดันโรงเรียนให้เห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าวพร้อมมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการลดปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กนักเรียน การแกล้งกันหรือรังแกกัน ซึ่งส่งผลรุนแรงในระยะยาวกลายเป็นปัญหาสังคมได้ในที่สุด   

เมื่อถึงเวลาที่ลูกของเราต้องออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ไปเผชิญโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ด้วยตนเอง  พ่อแม่ทุกคนย่อมรู้สึกห่วงใยไม่อยากให้ลูกต้องได้รับความทุกข์ยากหรือความเจ็บปวดในชีวิต  การยื่นมือเข้าปกป้องช่วยเหลือในยามที่ลูกยากลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง ถูกรังแก เป็นสิ่งที่พ่อแม่พร้อมยืนเคียงข้างลูก อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่าสองมือที่เราคิดไปเองว่าเป็นมือแห่งการปกป้องช่วยเหลือนั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นมือที่ไปทำร้ายและทำลายทั้งชีวิตลูกของเราก็เป็นได้

พ่อแม่จึงควรเฝ้าสังเกตว่าลูกของเรามีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงหรือไม่  ชอบหยิบของของเพื่อนมาเป็นของตัวเองหรือไม่ ครูที่โรงเรียนฟ้องมาบ่อย ๆ หรือไม่

ที่มา ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 :wanwan017:

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:03:13 AM »
หลากวิธีจัดการปัญหาเมื่อลูกโดนรังแก
          คุณพ่อคุณแม่คงจะหนักใจและเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เมื่อได้รู้ว่าลูกรักของคุณโดนเพื่อนหรือเด็กเกเรที่โรงเรียนแกล้ง และรังแก และหากปล่อยปัญหานี้ทิ้งไว้ต่อไป ก็จะส่งผล

เสียต่อตัวเด็กในอนาคต วันนี้กระปุกดอทคอมขอเสนอ วิธีดี ๆ ที่เป็นแนวทางในการจัดการกับปัญหา การโดนรังแกของลูกคุณให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ไว้ จะมีวิธีใดบ้างนั้น มาดูกัน

1. เริ่มจากการพูดคุย
          เด็กที่อายหรือเสียหน้าเกี่ยวกับการถูกเด็กนิสัยเกเรรังแก มักจะปิดปากเงียบ ไม่กล้าบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนอื่นได้รู้ ดังนั้นคุณจึงควรคุยกับเขาก่อนที่เรื่องจะบานปลายไป

มากกว่านี้  โดยแสดงให้เขาเห็นว่า คุณเป็นที่พึ่งพาได้และพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เขาเผชิญได้

2. ไม่ให้การช่วยเหลือ
          วิธีนี้อาจจะดูรุนแรงไปหน่อย แต่เด็ก ๆ ควรที่จะฝึกการกล้าพูดและมั่นใจในตัวเอง ดังนั้นเมื่อเด็กถูกรังแก ก็ควรที่จะให้เขากล้าที่จะเปิดเผยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น นอกซะจากจะ

เกิดเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้น คุณถึงควรที่จะเข้าไปช่วยเหลือ

3. หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง
          การอันธพาลมักจะเกิดขึ้นในที่ที่ลับตาผู้คน หรือไม่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เช่น ห้องน้ำ ใต้อาคารเรียน หลังอาหารเรียน เป็นต้น ดังนั้นคุณจึงควรสอนให้ลูกของคุณหลีก

เลี่ยงสถานที่เหล่านี้ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของอันธพาล

4. ทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก
          เด็ก ๆ มักจะให้ความสำคัญกับเพื่อนและเปิดเผยกับเพื่อนมากกว่า ดังนั้นการที่คุณรู้จักเพื่อน ๆ ของลูกเอาไว้ จะเป็นผลดีในการเข้าใจปัญหาของลูกคุณเมื่อเขาถูกรังแก

5. เชื่อใจลูก
          การเชื่อใจลูกถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะมีให้กับลูก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตั้งอยู่ในเหตุและผลด้วย เพราะการเชื่อใจลูกจะเป็นวิธีที่ทำให้ลูกเปิดใจ กล้าระบาย

ปัญหาที่เกิดกับเขาให้คุณฟังมากยิ่งขึ้น

6. ให้เด็กกล้าตัดสินใจเมื่อถูกรังแก
          เด็กที่ถูกรังแก ก็มักจะโดนรังแกอยู่เป็นประจำ ดังนั้นการฝึกให้เด็กกล้าตัดสินใจ เมื่อถูกรังแกจะทำให้เขาได้เรียนรู้เองว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เขาเลิกโดนรังแก

7. สอนลูกให้รู้จักระวังตัวเอง
          เด็กส่วนใหญ่ไม่อาจจะแก้ปัญหาการโดนรังแกได้ด้วยตัวเอง และมักจะต้องการความช่วยเหลืออยู่เสมอ ดังนั้นคุณจึงควรที่จะสอนลูกให้ได้รู้จักระวังตัวเอง เช่น หากลูก

ของคุณต้องไปไหนมาไหนคนเดียว ก็ควรสอนให้เขารู้จักหลบเลี่ยง ด้วยการหาเพื่อนสักคนให้ไปด้วยกัน ก็เป็นวิธีป้องกันการโดนรังแกที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

8. อย่าสัญญากับลูก
          คุณต้องปกป้องลูกของคุณ ดังนั้นขออย่าได้สัญญาที่จะรักษาความลับเกี่ยวเรื่องที่ลูกโดนรังแก ให้เขาได้กล้าเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีคุณคอยเป็นที่ปรึกษาอยู่เคียง

ข้างเขาก็พอ

9. สอนให้เชื่อมั่นในตัวเอง
          การที่เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง จะทำให้เขากล้าแสดงออก กล้าทำในสิ่งต่าง ๆ ความเชื่อมั่นในตัวเองนี้ก็จะผลักดันให้เขากล้าที่จะบอกกล่าว หรือขอความช่วยเหลือจาก

การถูกรังแกด้วยตัวของเขาเอง

10. ฝึกให้มีความใจเย็น
          เด็กที่มีนิสัยเกเรมักจะแกล้ง รังแกเด็กที่แสดงอาการกลัว หรืออ่อนแออยู่เป็นประจำ ดังนั้นคุณจึงควรสอนให้ลูกพยายามที่จะซ่อนความรู้สึกกลัวหรืออ่อนแอ ไม่ให้เด็กเกเร

เห็นหรือรับรู้ เพื่อป้องกันการโดนรังแกอยู่เป็นประจำ

11. สอนให้กล้ามีปากมีเสียง
          วิธีนี้ไม่ใช่ให้เป็นการฝึกเด็กมีนิสัยที่ก้าวร้าว แต่เป็นการสอนให้เด็กรู้จักปกป้องตัวเอง กล้าที่จะโต้ตอบ หรือมีปากมีเสียงกับเด็กที่มารังแกเขา

12. ให้ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
          บอกลูกของคุณให้เดินไปขอคำปรึกษาในยามที่เกิดปัญหา หรือต้องการคำปรึกษาทั้งกับเพื่อน ๆ หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้

13. ส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง
          มีการสำรวจพบว่า การสอนลูกของคุณรู้จักป้องกันตนเองด้วยความมั่นใจ เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ลูกโดนรังแก การมีความมั่นใจในตัวเองผสมผสาน

กับการเรียนศิลปะป้องกันตัว สนใจในงานอดิเรก เล่นกีฬา ฯลฯ เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ดีเยี่ยม ที่ทำให้ลูกของคุณสามารถจัดการกับปัญหาการโดนรังแกของตัวเองได้

          ได้รู้วิธีดี ๆ เหล่านี้แล้ว ก็หวังว่าลูกของคุณจะได้เรียนรู้การแก้ปัญหา เมื่อเขาโดนรังแกได้ด้วยตัวเขาเอง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวเขาเองในการกล้าเผชิญกับปัญหาต่อไปในอนาคต

ที่มา กระปุกดอทคอม
 :wanwan017:

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:07:34 AM »
เด็กถูกแกล้ง
การที่เด็กถูกแกล้งทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?
         การถูกกลั่นแกล้งจะมีผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างมาก เกิดความตึงเครียด ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดความหวาดกลัว ขาดความมั่นใจ ทำให้เด็กที่ถูกแกล้งเครียด เสียปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เสียการเรียน เด็กได้รับความกดดันและเก็บความกดดันนั้นไว้จนบางครั้งอาจเกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้

ลักษณะของเด็กที่ถูกแกล้ง มักจะมีลักษณะเป็นยังไง?
         ที่เจอบ่อยๆมักจะเป็นเด็กที่ยอมคน ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่ค่อยมีเพื่อน มีบุคลิกลักษณะบางอย่างที่ทำให้กลายเป็นเป้าของคนที่มาแกล้งได้ เช่น ตัวเล็ก หรือมีความพิการบางประการทำให้คนล้อเลียน เช่น มีความพิการบนใบหน้า มีแผลที่ทำให้เป็นที่สังเกตของคนอื่น
         ปัญหานี้พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และมีความรุนแรงกว่า เช่น ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ส่วนเด็กผู้หญิงมักเป็นคำพูดมากกว่าการกระทำ มักเป็นการว่ากล่าวกระทบกระเทียบเสียดสี หรือการบอยคอต กีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่ม

ถ้าพบว่าเด็กถูกแกล้ง ควรทำอย่างไรบ้าง?
         สอนทักษะการรับมือ ทักษะการป้องกันตัวที่ทำให้เด็กหลุดพ้นจากการถูกรังแก เช่น การรู้จักพูดแสดงความไม่ชอบใจของตนเองออกมา ให้สามารถบอกได้ว่าการที่เพื่อนมาแกล้งนั้นตนเองไม่ชอบและไม่ต้องการให้ทำแบบนั้น ดีกว่าการยืนเงียบๆและปล่อยให้เพื่อนแกล้ง เด็กควรเรียนรู้วิธีการผูกมิตรกับเพื่อนที่อยู่รอบตัว เพื่อสร้างเครือข่ายในการป้องกันตัว เด็กควรมีทักษะในการพูดคุยกับผู้ใหญ่ สามารถบอกผู้ใหญ่ เช่น ครู หรือผู้ปกครอง ให้รับทราบและเข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ถ้าเด็กที่ถูกแกล้งมาตลอด เกิดจะตอบโต้อย่างรุนแรง  จะจัดการอย่างไร?
        จะต้องมีการพูดคุยเพื่อช่วยให้เด็กได้ระบายความทุกข์ใจที่ถูกแกล้งมา รวมทั้งการพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกในทางลบ เช่น ความโกรธ ความแค้น ความคับข้องใจต่างๆ จากนั้นก็สอนทักษะในการระบายความรู้สึกเหล่านั้น และทักษะการรับมือเวลาถูกแกล้งเพื่อให้จัดการกับสถานการณ์ได้ตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมเก็บเอาไว้นานจนมีความโกรธแค้นสะสมอยู่มากจนถึงขั้นที่ระบายออกอย่างรุนแรงซึ่งอาจจะกลายเป็นโศกนาฏกรรม

แล้วเด็กที่แกล้งคนอื่นควรจัดการยังไง?
        เด็กที่แกล้งคนอื่นเป็นเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้กระทำ มักพบว่ามีปัญหาชีวิต มีปมด้อยบางประการ มีความขัดแย้งในครอบครัว มีความทุกข์ใจในตนเอง ทำให้เด็กแสดงความก้าวร้าวต่อผู้อื่นออกมา
        ดังนั้นเด็กที่รังแกคนอื่น ก็ควรได้รับการดูแล ได้รับการสัมภาษณ์ประเมินปัญหาเพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจและช่วยเหลือ เพราะในระยะยาว เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอาชญากรและติดเหล้าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ เด็กที่ถูกรังแกควรได้รับรู้และเข้าใจว่าเด็กที่มาแกล้งก็มีปัญหาเหมือนกันแทนที่จะมองผู้ที่รังแกว่าเป็นผู้ที่มาทำร้ายเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง  “เด็กก้าวร้าว”)

ถ้าพ่อแม่ หรือ ครูเห็นเหตุการณ์ว่ามีการแกล้งกันเกิดขึ้นควรจะทำอย่างไร?
        ในกรณีที่ครูเห็นเหตุการณ์ ให้หยุดพฤติกรรมการแกล้งกันทันที จัดการสืบสวนเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น และลงโทษคนที่ทำผิด ในกรณีที่เป็นพ่อแม่ ต้องสอน ฝึกทักษะให้ลูกในการป้องกันตัว เพื่อให้เด็กรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ถูกแกล้งได้ บทบาทของพ่อแม่เป็นบทบาทที่มีต่อตัวเด็กมากกว่าที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้โดยตรง เช่น ไปคุยกับเด็กคนที่แกล้งให้ ซึ่งเป็นวิธีที่เลือกทำเป็นอันดับท้ายๆ เพราะควรให้เด็กมีการแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ถ้าพ่อแม่เข้ามาจัดการเร็วเกินไปจะทำให้เด็กไม่มีทักษะในการรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ถ้าพฤติกรรมมีความรุนแรง เช่น มีการทำร้ายร่างกายกันรุนแรง หรือมีลักษณะที่ควบคุมไม่ได้แล้ว พ่อแม่อาจมีบทบาทในการเข้ามาจัดการเร็วขึ้น

ถ้าในกรณีที่เด็กถูกแอนตี้ กีดกันออกจากกลุ่ม บทบาทของครูควรเป็นอย่างไร?
       คุณคงจะต้องสืบค้นเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเด็กคนนี้ถึงถูกกีดกันจากกลุ่ม สลายกลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดกลุ่มที่ชัดเจน เพราะในกลุ่มอาจมีบางคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะกลั่นแกล้งเพียงแต่ว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน ดูว่าเด็กที่ถูกแยกกลุ่มสามารถเข้ากับใครได้มั้ย มองหาคนที่เด็กเข้ากลุ่มด้วยได้ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปในโรงเรียนได้

ให้เด็กการย้ายโรงเรียน จะย้ายดีหรือไม่?
        แนะนำให้ใช้เป็นวิธีสุดท้ายในกรณีที่ได้พยายามทุกมาตรการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย้ายโรงเรียนก็อาจไปเจอสถานการณ์แบบเดิม ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่ได้รับการปรับเปลี่ยน เช่น เด็กก็ยังคงไม่มีทักษะอยู่เหมือนเดิม การย้ายโรงเรียนก็อาจไปเจอปัญหาเดิมในโรงเรียนใหม่

ในกรณีที่เป็นพี่น้องแกล้งกัน เช่น พี่แกล้งน้อง น้องแกล้งพี่  ทางบ้านจะทำอย่างไรดี?
        จะทำในหลักการคล้ายๆกัน ก็คือ พ่อแม่ต้องหยุดพฤติกรรมที่แกล้งกันทันทีที่รู้ แยกเด็ก สอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น มีเหตุอะไร ใครก่อเรื่องขึ้นมาก่อน แล้วตัดสินอย่างยุติธรรมว่ากันไปตามถูกผิด พ่อแม่ควรวางกฎเกณฑ์ในบ้านอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมอะไรที่ทำไม่ได้ เช่น การทำร้ายกันหรือการแกล้งกันเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นจะต้องมีการลงโทษที่ชัดเจน สื่อให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่จริงจังกับเรื่องนี้
ที่มา cumentalhealth.com
 :wanwan017:

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:09:42 AM »
ผมเคยซื้อเครื่องอัดเสียง แอบใส่กระเป๋าให้ลูก
รุ่น cube มันสามารถอัดได้ทั้งวันเลย
เลยทำให้รู้พฤติกรรมหลายๆอย่างของลูก ของครู...
ที่มา อินเทอร์เน็ต

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:13:16 AM »
ลูกชายเคยโดนแกล้งแบบ ตบหัวอย่างแรง

ผมสอนให้ลูกสู้  ตอนหลังถึงรู้ว่าเด็กมันโตกว่า ลูกเราสู้แล้ว กลับมาร้องไห้ ด้วยความเจ็บใจ

ผมพาลูกไปชี้ตัวเลย  เลยบอกมันว่า ชอบแกล้งเด็กใช่ไหม อยากโดนไหม ถ้าลูกกรูบอกว่า โดนแกล้งอีก กรูจะกลับมา ตบยิ้มแบบที่ตบลูกกรู เข้าใจไหม
หลังจากนั้นไม่มีอีกเลย
ที่มา อินเทอร์เน็ต

ออฟไลน์ Adminis

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1206
  • ถูกใจ 116
    • เมทไทยดอทคอม | MateThai
Re: ลูกโดนเพื่อนแกล้ง ทำไงดี?
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2014, 11:15:10 AM »
ลูกชาย ป.1 ของเรา มีเพื่อนเค้ามาฟ้องว่า ลูกเราโดนจับหัวไปกระแทกกับเสาปูน
ถามลูก เค้าไม่ยอมเล่า ร้องไห้อย่างเดียว...

เราไปโรงเรียนตอนเช้า ตั้งใจไปพบคุณครู แต่บังเอิญไปเจอเด็กตัวปัญหาซะก่อน
เพื่อน ๆ ชี้ว่าคนนี้แหละที่ทำ เด็กตัวปัญหาปฏิเสธ ไม่ได้ทำ ๆๆๆๆ

เราเลยเปลี่ยนใจไม่รอเจอคุณครูแล้วววว.....เอามันตรงนี้แหละ

ทำหน้าดุ แผ่รังสีอำมหิต จ้องหน้าเด็กเงียบ ๆ ซักพัก..... แล้วเดินเข้าไปคุยด้วยเสียงเรียบ ๆ เน้นๆ ทีละคำว่า

ทีหลัง อย่าทำลูกเรา แบบนี้อีก ถ้าทำอีก จะเอาตำรวจมาลากคอเข้าคุก !! (มีตำรวจอยู่หน้าโรงเรียนทุกวัน)

เงียบหมดทั้งห้องเลยค่ะ .........ฮ่า ๆๆๆ

แต่ว่า...ตอนนี้มันสองตัวกลายเป็นเพื่อนซี้ และนั่งโต๊ะติดกัน ครูจับแยกก็ไม่ยอมแยกซะงั้น......
ที่มา อินเทอร์เน็ต